คำถาม : อายุเท่าไรที่สามารถสมัคร ประกันสุขภาพ ทีเอ็มบี เฮลธ์ แคร์ พลัส ได้?
คำตอบ : ตั้งแต่ 1 เดือน – 70 ปี มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งพิการและไม่มีโรคประจำตัว
คำถาม : ผู้สมัครแผนประกันสุขภาพ จะต้องใช้เอกสารการสมัครอะไรบ้าง?
คำตอบ : - สำเนาบัตรประชาชน
- กรณีที่เด็กไม่มีบัตรประชาชน ใช้สำเนาใบสูติบัตร หรือทะเบียนบ้าน
คำถาม : สามารถซื้อประกันสุขภาพได้สูงสุดกี่ฉบับ?
คำตอบ : ผู้เอาประกันภัย 1 ท่านสามารถซื้อได้สูงสุด 2 กรมธรรม์
คำถาม : ต้องตรวจสุขภาพไหม
คำตอบ : ไม่ต้องตรวจสุขภาพ เพียงตอบคำถามสุขภาพ 5 ข้อเท่านั้น โดยการแถลงคำตอบด้านสุขภาพเป็นปัจจัยในการพิจารณารับประกันภัย
คำถาม : ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ ประกันสุขภาพ ทีเอ็มบี เฮลธ์ แคร์ พลัส ได้รับความคุ้มครองทันทีหรือไม่?
คำตอบ : ให้ความคุ้มครองทันทีเฉพาะกรณีเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้รับชำระเบี้ยแล้ว
สำหรับการเจ็บป่วยใดๆ ต้องพ้นระยะเวลารอคอย (Waiting Period) 30 วันก่อน หลังจากที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับเป็นครั้งแรก
สำหรับการเจ็บป่วยด้วย 8 กลุ่มอาการโรคที่ระบุไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 120 วัน (Waiting Period) หลังจากที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับ เป็นครั้งแรก อันได้แก่โรค เนื้องอก ถุงน้ำ หรือ มะเร็งทุกชนิด, ริดสีดวงทวาร, ไส้เลื่อนทุกชนิด, ต้อเนื้อ หรือ ต้อกระจก, การตัดทอนซิล หรือ อดีนอยด์, นิ่วทุกชนิด, เส้นเลือดขอดที่ขา และ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
คำถาม : สัญญาความคุ้มครอง และเบี้ยประกันของประกันสุขภาพ ทีเอ็มบี เฮลธ์ แคร์ พลัส เป็นแบบใด
คำตอบ : สัญญาความคุ้มครองเป็นแบบปีต่อปี เบี้ยประกันขึ้นอยู่กับช่วงอายุและแผนความคุ้มครองที่เลือก
คำถาม : ประกันสุขภาพ ทีเอ็มบี เฮลธ์ แคร์ พลัส มีกี่แผนให้เลือกซื้อ?
คำตอบ : มี 2 แผนให้เลือกซื้อคือ แผนคลาสสิก แคร์ (200,000 บาท) และแผนเอ็กซ์ตร้า แคร์ (300,000 บาท)
คำถาม : ความคุ้มครองผู้ป่วยในแบบต่อครั้ง หรือการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่ง หมายความว่าอย่างไร
คำตอบ : หมายถึง การอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อการรักษาพยาบาลหรือสถานพยาบาลเวชกรรมเพื่อการรักษาในฐานะผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง และให้รวมถึงการอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเวชกรรมสองครั้งหรือมากกว่าด้วยสาเหตุหรือโรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคเดียวกัน โดยที่ระยะเวลาการอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเวชกรรมแต่ละครั้งห่างกันไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่ออกจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเวชกรรมครั้งสุดท้าย ก็ให้ถือว่าเป็นการเข้าพักรักษาตัวครั้งเดียวกันด้วย
คำถาม : ความคุ้มครองเงินชดเชยรายได้รายวันระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นอย่างไร
คำตอบ : คุ้มครองกรณีผู้เอาประกันภัย ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยซึ่งได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์สุขภาพและอุบัติเหตุ จนเป็นเหตุให้ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเวชกรรมตามคำวินิจฉัยของแพทย์ บริษัทผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินชดเชยรายได้รายวัน ตามจำนวนวันที่โรงพยาบาลคิดค่าห้องพัก ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในตารางกรมธรรม์ สูงสุดไม่เกิน 365 วัน ต่อการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่ง
คำถาม : ความคุ้มครองโรคมะเร็ง ที่สามารถซื้อเพิ่มเติมได้เป็นแบบใด และให้ความคุ้มครองโรคอะไรบ้าง?
คำตอบ : หากตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งโรคใดโรคหนึ่งตามเงื่อนไขกรมธรรม์กำหนดจะได้รับค่าสินไหมตามทุนประกันของแผนประกันที่เลือกและความคุ้มครองส่วนนี้จะสิ้นสุดลงทันที โดยให้ความคุ้มครองทั้งหมด 7 โรคดังนี้
คุ้มครองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น - 1) โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- 2) โรคมะเร็งปอด
- 3) โรคมะเร็งตับ
- 4) โรคมะเร็งเต้านม
- 5) โรคมะเร็งรังไข่
- 6) โรคมะเร็งมดลูก
คุ้มครองระยะลุกลาม - 7) โรคมะเร็งปากมดลูก (คุ้มครองเฉพาะระยะลุกลาม)
คำถาม : ความคุ้มครองโรคร้ายแรง ที่สามารถซื้อเพิ่มเติมได้เป็นแบบใด และให้ความคุ้มครองโรคอะไรบ้าง?
คำตอบ : หากได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เป็นครั้งแรกว่าเป็นโรคร้ายแรงโรคใดโรคหนึ่ง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์กำหนดจะได้รับค่าสินไหมตามทุนประกันของแผนประกันที่เลือก โดยให้ความคุ้มครองทั้งหมด 10 โรคดังนี้
- 1) โรคมะเร็งระยะลุกลาม
- 2) กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด
- 3) โรคหลอดเลือดสมองแตก หรืออุดตัน
- 4) ไตวายเรื้อรัง
- 5) ภาวะโคม่า
- 6) ตับวาย
- 7) โรคเนื้องอกในสมอง ชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง
- 8) โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์
- 9) โรคเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
- 10) ตาบอด